กรรมฐาน (บาลี :kammaṭṭhāna, กมฺมฏฺาน) (สันสกฤต: karmasthana) หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิ กรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตสงบอยู่ได้ ไม่เที่ยวเตลิดเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ไปอย่างไร้จุดหมาย
กรรมฐาน 40
กรรมฐาน 40 เป็นอุบาย 40 วิธีที่ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ก็คือสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ พอจิตกำหนดจับสิ่งนี้เข้าแล้ว จะชักนำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งนี้ จนเป็นสมาธิได้มั่นคงและเร็วที่สุด ในคัมภีร์อรรถกถาและปกรณ์ ได้รวบรวมแสดงกรรมฐานไว้ 40 อย่าง คือ
- กสิณ 10
ดูบทความหลักที่: กสิณ
- แปลว่า วัตถุอันจูงใจ หรือวัตถุสำหรับเพ่ง เพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ เป็นวิธีใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยวิธีเพ่งเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง มี 10 อย่าง คือ
- ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป) ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ
- วรรณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ
- กสิณอื่นๆ ได้แก่ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ
- อสุภะ 10
ดูบทความหลักที่: อสุภะ
- ได้แก่ การพิจารณาซากศพระยะต่างๆรวมกัน 10 ระยะ ตั้งแต่ศพเริ่มขึ้นอืด ไปจนถึงศพที่เหลือแต่โครงกระดูก
- อนุสติ 10
- คือ อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ได้แก่ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ มรณสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสติ
- อัปปมัญญา 4
- คือ ธรรมที่พึงแผ่ไปในมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย อย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกันไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต โดยมากเรียกกันว่า พรหมวิหาร 4 คือ
- เมตตา คือ ปรารถนาดี มีไมตรีอยากให้มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย มีความสุขทั่วหน้า
- กรุณา คือ อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
- มุฑิตา คือ พลอยมีใจแช่มชื่นบาน เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และเจริญงอกงาม ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป
- อุเบกขา คือ วางจิตเรียบสงบ สม่ำเสมอ เที่ยงตรงดุจตาชั่ง มองเห็นมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย ได้รับผลดีร้าย ตามเหตุปัจจัยที่ประกอบ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบหรือชัง
- อาหาเร ปฏิกูลสัญญา
- กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร
- จตุธาตุววัฏฐาน
- กำหนดพิจารณาธาตุ 4 คือ พิจารณาเห็นร่างกายของตน โดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ
- อรูป 4
- กำหนดสภาวะที่เป็นอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่งกสิณ 9 อย่างแรก จนได้จตุตถฌานมาแล้ว กรรมฐานแบบอรูป มี 4 อย่าง คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
Click to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.